วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กลวิธีหนีกรรม











กลวิธีหนีกรรมให้พ้นแบบถาวร

เมื่อคนเราถึงจุดๆ หนึ่งในที่สุดแห่งทุกข์ คือเมื่อไม่สามารถรับมือกับความทุกข์ได้ คิดว่าหนี้กรรมที่ต้องชดใช้นั้นทำอย่างไรก็ไม่หมด เพราะชีวิตไม่สามารถปลดเปลื้องทุกข์ได้เสียที เมื่อทุกข์เก่าหมด ทุกข์ใหม่ก็ตามสัญจรมาให้พบเจออีกไม่จบไม่สิ้น

ในบางคนที่จิตใจอ่อนแอไม่สามารถรับมือกับความทุกข์ที่ถาโถมได้ หรือโดนกระทบจากทุกข์แบบรอบทิศทางจึงมักคิดหาทางออกด้วยการหนี้ให้พ้นทุกข์แบบถาวรด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” เพื่อจะหนี้ทุกข์หนีกรรมให้พ้น

แต่การฆ่าตัวตายไม่ใช่การหนีทุกข์ได้อย่างแท้จริง การที่คนเรากว่าจะเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โควตาการเกิดเป็นมนุษย์นั้นมีจำกัดและทำได้ยากยิ่ง ยิ่งกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับหนึ่งของโลกที่มีอัตราส่วน หนึ่งต่อล้านคนเสียอีก

พระพุทธเจ้าทรงอุปมาว่า หากมีมหาสมุทรสุดกว้างใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง และเหนือผิวน้ำนั้นมีห่วงเล็กๆ ที่ลอยฟ่องอยู่ ในแต่ละวินาทีห่วงนี้ก็จะถูกคลื่นลมตีให้ลอยคว้างไปมาอยู่ตลอดเวลา ส่วนเบื้องล่างผิวน้ำก็มีเต่าตาบอดตัวหนึ่ง ทุกๆร้อยปี เต่าตาบอดจะโผล่หัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำสักครั้ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำและเอาหัวมาสวมเข้ากับห่วงเล็กๆ ห่วงนั้นอย่างพอเหมาะพอดี เรียกได้ว่าเป็นไปแทบจะไม่ได้ แต่โควตาการได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากกว่านั้นเป็นล้านเท่า


แม้การเกิดเป็นคนจะยากถึงเพียงนี้แต่ทุกคนที่เกิดมาก็ได้รับสิทธิ์นั้นมาแล้ว หากลองเทียบกับหลักวิทยาศาสตร์กายภาพก็คือเสปิร์มนับล้านตัวสามารถวิ่งเข้าสู่รังไข่ได้เพียงตัวเดียว ฉันใดก็ฉันนั้น


การฆ่าตัวตายเรียกได้ว่าเป็นการปฏิเสธความมีชีวิต ปฏิเสธวิวัฒนาการที่สูงค่าและต้องกลับไปตั้งต้นวิวัฒนาการใหม่กว่าจะได้รับโควตาที่แสนน้อยนิดนั้นเพื่อกลับมาเกิดเป็นคนอีก เรียกได้ว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดในสภาพชีวิตชนิดต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน

การฆ่าตัวตายไม่ได้ทำให้คนพ้นทุกข์หนีกรรมได้ แต่เป็นการสร้างวงจรแห่งความทุกข์ให้ขยายวงใหญ่ขึ้นอีกและสร้างความทุกข์อันยาวนานขึ้นมาให้ชีวิตต้องเผชิญหน้าต่อไป เพราะฉะนั้นหากใครคิดที่คิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีให้พ้นกรรมได้ก็ต้องบอกว่าคิดผิดถนัดทีเดียว

การจะหนีพ้นกรรมให้ได้อย่างถาวรนั้น มีอยู่หนทางเดียวก็คือ การปฏิบัติตามทางสายกลางมีอริยมรรคองค์แปดเป็นตัวนำทาง


มรรค 8 วิธีการหนีที่ได้ผลที่สุด

มรรคแปดก็คือข้อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ มรรค นั้นแปลว่า ทาง การเดินทางใดๆให้ไปสู่จุดมุ่งหมายย่อมต้องอาศัยเส้นทางเพื่อก้าวเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อปลายทางคือความพ้นทุกข์ที่แท้จริง ก็จำเป็นต้องดำเนินรอยตามทางที่ตรงที่สุด เร็วที่สุดและสะดวกที่สุด หากมัวคิดมากสงสัยหรือใช้วิธีเลี้ยวลดก็ย่อมเดินทางให้ถึงจุดหมายได้ยาก

ส่วนประกอบ 8 ประการของมรรคคือ

1.เห็นชอบ (สัมมาทิฏิฐิ) สัมมาทิฐินั้นเปรียบเหมือนเข็มทิศ การจะเดินทางให้ถูกต้องมีเข็มทิศคอยชี้ ความเห็นชอบนี้ก็คือการมองเห็นโลกทุกอย่างตามความเป็นจริง รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่ เช่นแผ่นดินยังไหวได้ทุกนาที คนที่เคยโด่งดังทะลุฟ้าก็อาจกลายเป็นคนที่ไม่มีใครสนใจได้ในชั่วข้ามคืน มีสมหวังย่อมมีผิดหวัง

ไม่ได้ดั่งใจ ก็คือความทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบเราก็ต้องมีเรื่องทุกข์ใจให้เจออยู่ประจำ ชีวิตต้องทุกข์รายวัน เมื่อแก้ทุกข์จบหนึ่งอย่างก็มีทุกข์ใหม่กรรมใหม่มาให้รอแก้ตลอดเวลา และสุดท้ายก็คือ ต้องเห็นว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ แม้พระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่มีบุญวาสนามากที่สุดในโลกนี้ แต่ก็ยังทรงกำพร้าพระมารดาตั้งแต่ประสูติได้เพียงเจ็ดวัน

ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่งแต่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน จึงไม่ต้องแปลกใจ เสียใจ เพียงแค่มองให้เห็นความจริงในข้อนี้ก็เท่ากับการปลดล็อกกุญแจอันใหญ่ที่พันธนาการชีวิตเราไว้ และพร้อมจะก้าวเดินไปสู่การหลุดพ้นทุกข์ที่แท้ได้

2.ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) ดำริชอบแปลง่ายๆว่า “คิดดี”  3 ประการได้แก่

– คิดตรึกตรองถึงแต่สิ่งที่เป็นกุศล ได้แก่คิดที่จะเสียสละความสุขของตนเองเพื่อคนอื่น ปรารถนาให้คนอื่นพ้นทุกข์ ยินดีเมื่อคนอื่นมีความสุข และรู้จักปล่อยวาง (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)

– คิดที่จะให้อภัยผู้อื่นได้ตลอดเวลา ไม่ขัดเคืองไม่มุ่งทำร้ายไม่ต้องการเบียดเบียนใคร จะช่วยให้จิตใจสบายปลอดโปร่ง

– คิดที่จะออกจากความอยากให้ได้ คือ  ความนึกคิดในทางที่จะละออกจากกามพยายามทำลายกิเลสตัณหาของตนเองให้หมดไปให้ได้

3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) ประกอบด้วย การไม่พูดเท็จหลอกลวงใคร ไม่พูดส่อเสียดให้คนอื่นเกิดความขัดเคืองใจ  ไม่พูดหยาบคายให้ระคายเคืองความรู้สึกใคร  และไม่พูดเพ้อเจ้อให้ผู้อื่นต้องเสียเวลาฟังโดยไร้ประโยชน์

4. กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) ได้แก่ การลงมือกระทำเพื่อการละเว้น ในการไม่ฆ่าสัตว์เพราะสัตว์โลกทุกชนิดย่อมรักชีวิตของตน ไม่ต่างจากตัวของเราเอง ไม่ลงมือลักทรัพย์ใครเพราะทุกคนย่อมหวงแหนทรัพย์ที่ตนเองอุตส่าห์หามาได้ และไม่ประพฤติผิดในกาม เพราะรู้ว่ามนุษย์ทุกคนย่อมรักหวงแหนในคู่ครองของตนเอง

5. เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) การงดเว้นจากการหาเลี้ยงชีพโดยการเบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ ประกอบอาชีพที่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเป็นหลัก และตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ลำบากจากอาชีพนั้น

6.พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) ความพยายามชอบนั้นหมายถึงความพยายามระมัดระวังใน “จิต”ของตนเองที่จะไม่ให้เกิด และพยายามจะทำให้เกิดในสิ่งต่อไปนี้

เพียรระวัง หรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมความชั่วที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น

เพียรละ หรือเพียรกำจัด คือเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วมาแล้วไม่ให้ขยายตัวอีก

เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมคุณงามความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น

เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

7.ระลึกชอบ (สัมมาสติ)

สติก็คือความรู้สึกตัว รู้ตนเองว่ากำลังอะไรอยู่ในทุกขณะจิตไม่เป็นคนเผลอ การไม่เผลอการรู้ตัวอยู่เป็นเป็นประจำจะทำให้หลีกได้จากการกระทำความชั่วเป็นหลักธรรมที่เรียกว่าสติปัฎฐาน แบ่งออกเป็น 4 อย่างคือ ระลึกได้เมื่อรู้สึกสบาย หรือ ไม่สบายก็รู้ตัวอยู่แต่ไม่ยึดติดกับความไม่สบายนั้น จิตระลึกได้เมื่อรู้สึกสุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆก็รับรู้ได้ ระลึกได้ว่าจิตกำลังเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วอยู่ก็รับรู้ได้ และระลึกได้ว่าอารมณ์อะไรกำลังผ่านเข้ามาในจิตใจ เมื่อรับรู้แล้วก็เพียงแต่รู้และปล่อยวาง

8. ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)
คือความตั้งใจมั่นโดยถูกทางที่เหนือกว่าสมาธิเพียงเฉยๆ โดยสมาธิ กับ สัมมาสมาธิ มีความแตกต่างกัน สมาธิจะเป็นเพียงการถือเอา อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทำให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์นั้น ถ้าจิตจับที่เรื่องร้าย มาเป็นอารมณ์แน่วแน่อยู่ในเรื่องนั้น สมาธินั้นก็นับเป็นสมาธิได้แต่ไม่เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ เช่น การมีจิตจดจ่ออยู่กับการมุ่งทำร้ายผู้อื่นก็เรียกได้ว่ามีสมาธิ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

ส่วนคำสัมมาสมาธิหมายถึงการยึดเรื่องดีมาเป็นอารมณ์แน่วแน่ อยู่ในเรื่องที่เป็นกุศลเป็นบุญ สมาธินั้นจึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ในทุกๆ อย่าง

หนทางแห่งการดำรงชีวิตอย่างรู้แจ้งที่เรียกว่า มรรค 8 จะมีสติเป็นพื้นฐานด้วยการฝึกสติสามารถพัฒนาสมาธิจิตซึ่งจะช่วยให้บรรลุถึงปัญญา เพราะ สัมมาสมาธิจึงสามารถบรรลุถึงสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ และสัมมาวายามะ ปัญญาความเข้าใจซึ่งพัฒนาขึ้นนั้นสามารถกำจัดความไม่รู้ (อวิชชา) ได้ในที่สุด

ในทางปฏิบัตินั้น คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าทรงอุทิศตนสั่งสอน พระองค์สั่งสอนในช่วงเวลา 45 ปีนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางอริยมรรค 8 นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พระองค์ทรงอธิบายทางสายนี้ โดยวิธีการ และใช้คำพูดที่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของบุคคลโดยให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนา และศักยภาพในการเข้าใจ และตามได้ทันของบุคคลเหล่านั้น

เราต้องทำความเข้าใจว่า องค์ หรือส่วนประกอบ 8 ประการของทางสายกลางนี้ ต้องนำไปปฏิบัติ “ทีละข้อ” โดยเรียงตามลำดับ องค์ต่างๆ เหล่านั้นจะต้องพัฒนาให้มีขึ้นพร้อมๆกันมากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ขีดความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะให้เป็นไปได้ องค์เหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวโยงกัน และแต่ละองค์ก็ช่วยส่งเสริมองค์อื่นๆไปด้วย

ข้อปฏิบัติที่พอสามารถสรุปรวมจากอริยมรรคมีองค์ 8 และประมวลเป็นวิธีการที่ให้มนุษย์ปุถุชนสามารถกระทำได้ง่าย เรียกว่า การสร้างบุญบารมี3 ประการคือ ทาน ศีล และภาวนา

ที่มา จากหนังสือเรื่อง  เคล็ดวิชาศักดิ์สิทธิ์ 7 พ้นเวร พ้นกรรม รวยฉับพลันต้องทำอย่างไร  โดย อมตะ เทพรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น